ฟักไข่ด้วยตู้ฟักอย่างไรให้ได้ผลดี

ฟักไข่ด้วยตู้ฟักอย่างไรให้ได้ผลดี



การฟักไข่จะได้ผลดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อันประกอบด้วย

1.ความสมบูรณ์ของพันธุ์ หมายถึง ความสมบูรณ์ของไข่ที่นำมาฟัก นั่นหมายถึง ผู้ประกอบการจะต้องใส่ใจในช่วงผสมพันธ์ไก่ เพื่อให้ไข่ที่ได้มีความสมบูรณ์พอเพียง ดังนี้

1.1. ระยะเวลาที่นำตัวผู้เข้าผสม และการเก็บไข่

- ถ้าเป็นการผสมเทียม ผู้ประกอบการจะต้องเก็บไข่หลังฉีดเชื้อแล้ว 3 วัน - ถ้าเป็นการผสมแบบธรรมชาติ เก็บไข่เมื่อนำพ่อพันธ์เข้าผสมพันธุ์แล้ว 7 วัน

1.2 ฤดูกาลที่ผสมพันธุ์ ช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว ประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม ถือว่าเหมาะสมที่สุด

1.3 อาหารที่ใช้เลี้ยง อาหารควรมีโภชนาการที่เหมาะสม และเพียงพอต่อความต้องการของพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์

1.4 การให้ฮอร์โมนเสริมบางตัวแก่แม่พันธุ์ไก่ จะทำให้แม่ไก่ผลิตไข่ที่มีคุณภาพของเชื้อดีขึ้น

1.5 ปริมาณไข่ของแม่พันธุ์ โดยแม่พันธุ์ที่ให้ไข่มาก มักให้ไข่ที่สมบูรณ์ดี

1.6 การเลือกคู่ผสมพันธุ์ แม่พันธ์ไก่บางตัวจะไม่ยอมให้พ่อพันธุ์บางตัวผสมพันธุ์ด้วย ผู้เลี้ยงจึงต้องสับเปลี่ยนพ่อพันธุ์ไก่ตัวใหม่ให้

1.7 การผสมแบบเลือดชิด ถ้าผสมไปนานๆ จะทำให้น้ำเชื้อของพ่อพันธุ์ด้อยคุณภาพลง

1.8 วิธีการผสมพันธุ์ การผสมแบบธรรมชาติจะให้ผลดีกว่าการผสมเทียม

1.9 อายุของพ่อแม่พันธุ์แม่พันธุ์ไก่ ควรมีอายุ 6 -18 เดือน จึงจะให้ไข่ที่มีคุณภาพ ส่วนพ่อพันธุ์ควรมีอายุระหว่าง 8-24 เดือน จะให้น้ำเชื้อที่มีคุณภาพดี

1.10 อัตราส่วนตัวพ่อพันธุ์ต่อแม่พันธุ์ไก่ที่เหมาะสม อยู่ระหว่าง 1 ต่อ 8-10 ตัว


2. อุณหภูมิหรือความร้อน ที่พอเหมาะและสม่ำเสมอ จะช่วยให้ไข่ได้รับการผสม และเจริญเติบโตเป็นตัวลูกไก่ที่แข็งแรง

2.1 อุณหภูมิที่เหมาะสมในตู้ฟัก แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ช่วงระหว่างวันที่ 1-18 ของการฟัก อุณหภูมิเหมาะสมสำหรับตู้ฟักที่มีพัดลมระบายอากาศ อยู่ระหว่าง 37.5 องศาเซลเซียส

ระยะที่ 2 ช่วงระหว่างวันที่ 19-21 ของการฟัก ในระยะนี้ อุณหภูมิจะลดต่ำลงเล็กน้อย อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 36-36.5 องศาเซลเซียส


2.2 ความร้อน มีความสัมพันธ์กับการฟักตัวของลูกไก่ ดังนี้


1. เปอร์เซ็นต์การฟักตัวของลูกไก่ ถ้าอุณหภูมิการฟักถูกต้องและสม่ำเสมอ จะทำให้เปอร์เซ็นต์การฟักตัวของลูกไก่มีสูง แต่ถ้าอุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไป ก็จะทำให้เปอร์เซ็นต์การฟักตัวของลูกไก่ต่ำ


2. ระยะเวลาการฟักตัว โดยปกติ ไข่ไก่จะใช้เวลาในการฟักตัวประมาณ 21 วัน ถ้าใช้อุณหภูมิสูงกว่าปกติ แต่ไม่ถึงกับเป็นอันตรายต่อเชื้อลูกไก่ ก็จะทำให้ลูกไก่ฟักตัวออกมาเร็วกว่าทั่วไป แต่ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่าปกติ ลูกไก่จะฟักตัวช้า


3. ขนาดของลูกไก่ที่ฟักออกมา จะสัมพันธ์กับระยะเวลาการฟักตัวของลูกไก่ด้วย คือ ถ้าฟักออกช้า เพราะอุณหภูมิต่ำ ลูกไก่ก็จะมีขนาดตัวโต ถ้าฟักตัวออกมาเร็ว เพราะใช้อุณหภูมิสูง ลูกไก่จะมีขนาดตัวที่เล็ก แต่ไม่ว่าจะขนาดตัวเล็กหรือใหญ่ ลูกไก่จะมีสุขภาพที่ไม่ค่อยแข็งแรง


4. เปอร์เซ็นต์เชื้อลูกไก่ตาย ถ้าอุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไป จะส่งผลทำให้เปอร์เซ็นต์เชื้อตายสูง โดยเฉพาะช่วง 2-4 วันแรกของระยะฟักตัว


5. จำนวนไก่ที่มีความผิดปกติ ถ้าอุณหภูมิไม่สม่ำเสมอ จะทำให้ลูกไก่ที่ฟักออกมามีความผิดปกติของร่างกาย ถ้าอุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไป ก็จะเป็นสาเหตุให้ลูกไก่พิการหรืออ่อนแอได้



3. ปริมาณความชื้น ที่พอเหมาะ จะช่วยให้เชื้อของลูกไก่เจริญเติบโตได้ตามปกติ และยังช่วยให้ขนของลูกไก่ไม่ติดกับเยื่อหุ้มเปลือกไข่ ในขณะที่ลูกไก่กำลังจะฟักตัวออกจากไข่


ความชื้นที่เหมาะสมภายในตู้ฟัก แบ่งออกเป็น 2 ระยะ


ระยะที่ 1 ช่วงวันที่ 1-18 วันแรกของระยะฟักตัว จะใช้ความชื้นประมาณ 45-55 เปอร์เซ็นต์


ระยะที่ 2 ช่วงวันที่ 19-21 ของระยะฟักตัว จะใช้ความชื้นประมาณ 70-85 เปอร์เซ็นต์


ความชื้นภายในตู้ฟักจะได้จากการระเหยของน้ำในถาดน้ำที่อยู่ภายในตู้ฟัก หรืออาจได้จากการฉีดพ่นน้ำเป็นละอองเข้าไปในตู้ วิธีนี้จะช่วยเพิ่มความชื้นในตู้ฟักได้เช่นเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น