การเลี้ยงลูกไก่ชน พม่า

การเลี้ยงลูกไก่ชนพม่า

ธรรมชาติของไก่พื้นบ้าน เมื่อฟักลูกไก่ออกแล้วยังต้องทำหน้าที่เลี้ยงดู โดยหาอาหารตาม ธรรมชาติและป้องกันภยันตรายทั้งหลายจนลูกไก่อายุประมาณระหว่าง 6 - 10 สัปดาห์ แม่ไก่จึงจะปล่อยให้ลูกหากินตามอิสระ การที่แม่ไก่ต้องคอยเลี้ยงดูลูกไก่นั้น จะมีผลเสียเกิดขึ้นได้ดังนี้ ในระหว่างการเลี้ยงลูกนั้น แม่ไก่จะหยุดการให้ไข่โดยสิ้นเชิง ทำให้การออกไข่ของชุดต่อไปล่าช้า อัตราการตายของลูกไก่สูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนจากร้อนจัดแล้วฝนตก ทำให้ลูกไก่ได้รับสภาวะเครียด ถ้าปรับตัวไม่ทันมักจะตาย ในแหล่งที่มีอาหารตามธรรมชาติไม่เพียงพอ ย่อมทำให้ลูกไก่ได้รับอาหารไม่ครบถ้วน ทำให้อ่อนแอ มีภูมิต้านทานต่อโรคต่ำลง เป็นผลทำให้ลูกไก่ตายด้วยโรคแทรกซ้อนได้ง่าย จำนวนลูกไก่ที่ฟักได้ต่อปีต่อแม่ไก่ลดลง ผลเสียดังกล่าวข้างต้น โดยปกติเกษตรกรมักมองข้ามและไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร เป็นเพราะราคาไม่สูงเหมือนกับสัตว์ใหญ่ชนิดอื่น ๆ ที่จำหน่ายได้ในราคาสูง ๆ
อย่างไรก็ตามถ้าเกษตรกรจะยอมลงทุนบ้างและให้ความเอาใจใส่เพิ่มขึ้นอีกเล้กน้อยก็จะสามารถลดความสูญเสียดังกล่าวได้มากพอควร ซึ่งอาจเพียงพอที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น วิธีการแก้ไขทำได้โดยการแยกลูกไก่จากแม่ไก่มากเองภายในคอกไก่ การกกลูกไก่ คือการให้ความอบอุ่นแก่ลูกไก่โดยอาศัยความอบอุ่นจากหลอดไฟฟ้า หรือลวดร้อน หรือเตาถ่าน เป็นต้น ซึ่งก็เปรียบเสมือน บริเวณใต้ปีกไก่ของแม่ไก่ที่คอยให้ความอบอุ่นแก่ลูก ๆ นั่นเอง อุปกรณ์และวัสดุที่ใช้สำหรับการกกลูกไก่ประกอบด้วย
 วัสดุรองพื้นคอก ที่นิยมใช้คือ แกลบเพราะหาได้สะดวก หรือจะเป็นพวกขี้เลื่อย หรือฟางข้าวแห้งนำมาตัดเป็นท่อน ๆ ยาวพอประมาณก็ได้
 แผงกั้นกกลูกไก่ อุปกรณ์ชนิดนี้มีไว้สำหรับจำกัดบริเวณลูกไก่ให้อยู่เฉพาะบริเวณที่มีความอบอุ่น และมีอาหาร ลูกไก่แรกเกิดนั้น จะยังไม่คุ้นเคยว่าบริเวณใดอบอุ่น ถ้าไม่มีแผงกั้นกก ลูกไก่อาจเดินหลงไปตามมุมคอกไก่ซึ่งความอบอุ่นไปไม่ถึง ย่อมส่งผลสูญเสียต่อการเลี้ยง แผงกั้นกกอาจทำจากไม้ไผ่ หรือวัสดุชนิดใดก็ได้ที่กั้นแล้วลูกไก่ลอดผ่านไม่ได้ โดยมากมักวางแผงกั้นกกเป็นรูปวงกลมจะดีกว่าวางเป็นรูปเหลี่ยม
 หลอดไฟฟ้า หลอดไฟ 100 วัตต์พร้อมฝาโป๊ะ 1 ชุด สามารถใช้กกลูกไก่ได้ประมาณ 10 - 50 ตัว แต่ในหมู่บ้านที่ยังไม่มีไฟฟ้า อาจดัดแปลงใช้เตาถ่านที่ยังมีความร้อนอยู่วางไว้บริเวณกึ่งกลางของแผงกั้นกกแล้วใช้แผ่นสังกะสีล้อมรอบเตาถ่ายนั้น ไว้อีกชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกไก่เดินชน หรือโดดลงไปในเตาถ่าน
 ม่านกั้นคอกไก่ มีไว้สำหรับป้องกันไม่ให้ลมฝนผ่านเข้าในคอกในระยะการกก ม่านนั้นอาจทำจากวัสดุเหลือทิ้ง เช่น พวกถุงปุ๋ยเก่า ๆ หรือพวกพลาสติก ซึ่งต้องนำมาล้างให้สะอาดก่อนนำมาทำเป็นม่าน
 ที่ให้น้ำและอาหาร อาจทำจากไม้ไผ่ผ่าซีก หรือทำจากยางรถจักรยานหรือมอเตอร์ไซด์เก่า ๆ ก็ได้ แต่ขนาดของยางไม่ควรกว้างและลึกเกินไป การกกลูกไก่นั้น จะใช้เวลาประมาณ 3 - 5 สัปดาห์ ส่วนในฤดูร้อนจะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ การกกในฤดูร้อนในช่วงกลางวันไม่จำเป็นต้องเปิดกกเพราะอุณหภูมิสูงอยู่แล้ว บางครั้งยังต้องเปิดม่านเพื่อให้ลมพัดผ่านระบายความร้อนภายในคอกออกไปด้วย ส่วนในเวลากลางคืน ควรเปิดกกและปิดม่านให้เรียบร้อย
 การอนุบาลลูกไก่ชน
ปัญหาการเลี้ยงไก่ แล้วลูกไก่มักจะตายมากกว่าการรอด การเลี้ยงไก่ชนนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด การอนุบาลลูกไก่โดยเฉพาะหน้าฝน เป็นช่วงที่เลี้ยงลูกไก่ยากมากเพราะลูกไก่มักจะเป็นหวัด แล้วโรคอื่นๆจะแทรกประกอบกับเป็นช่วงฤดูฝนทำให้เชื้อโรคทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัสต่างๆ แพร่กระจายได้รวดเร็วที่สุด การเลี้ยงหรืออนุบาลลูกไก่มีข้อควรพิจารณาดังต่อไปนี้
 ต้องให้ความอบอุ่นเพียงพอในกรณีที่เลี้ยงเอง ไม่ได้ให้แม่ของมันเลี้ยง โดยการกกไฟและอยู่ในสุ่มไม่ให้ถูกละอองฝน
 หากให้แม่มันเลี้ยงต้องขังสุ่ม ไว้ในที่ไม่โดนฝน หากให้แม่มันเลี้ยงแล้วปล่อยให้แม่ของมันพาไป ตากลมตากฝน ก็มีโอกาสเป็นหวัดได้ง่าย
 ต้องมีการทำวัคซีน ให้ครบถ้วนตามกำหนดเวลาที่กรมปศุสัตว์กำหนด คือ
 นิวคาสเซิล ทำวัคซีนนิวคาสเซิลเมื่อลูกไก่มีอายุ 3 - 7 วัน โดยการหยอดจมูกหรือตาของลูกไก่
จำนวน 2 - 3 หยด เมื่อครบ 3 เดือนทำอีกครั้งหนึ่ง
 หลอดลมอักเสบ ทำวัคซีนหลอดลมอักเสบ เมื่อลูกไก่อายุได้ 7 - 15 วัน โดยการหยอดจมูก
หรือตา จำนวน 2 - 3 หยด
 หวัดหน้าบวม ทำวัคซีนหวัดหน้าบวม เมื่อลูกไก่อายุได้ 2 เดือน โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง
ตัวละ 0.5 ซีซี
 อหิวาต์ ทำวัคซีนอหิวาต์ เมื่อลูกไก่อายุได้ 3 เดือน โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังตัวละ 1.0 ซีซี
 ข้อควรระวังในการทำวัคซีน

 การทำวัคซีนทุกครั้ง โดยเฉพาะเชื้อเป็น ควรทำในที่ร่มอย่าทำในที่แดดจ้า เพราะจะทำให้วัคซีนเสื่อม
 การทำวัคซีนทุกครั้ง โดยเฉพาะเชื้อเป็น ต้องทำให้เสร็จภายใน 1 ชั่วโมง หากเกินกำหนดวัคซีนจะเสื่อม
 อย่าเทวัคซีนที่เหลือลงพื้นดิน เพราะจะทำให้เชื้อนั้นเจริญเติบโตได้ในที่ชื้นแฉะ กลายเป็นเชื้อโรคแพร่ระบาดต่อไป
 วัคซีนต้องเก็บไว้ในอุณหภูมิไม่เกิน 5 - 8 องศาเซลเซียส มิฉะนั้นวัคซีนจะเสื่อม
 การทำวัคซีนต้องทำกับไก่ที่มีสุขภาพแข็งแรง หากทำในไก่ที่ไม่สบายเช่นเป็นหวัด ถือเป็นข้อห้ามเพราะเท่ากับไปเพิ่มเชื้อโรคในไก่ ทำให้ไก่อ่อนแอ บางครั้งถึงตายได้
 การทำวัคซีนไก่รุ่นและไก่ใหญ่ที่ไม่เคยทำวัคซีนมาตั้งแต่เล็ก บางตัวจะมีการแพ้ ดังนั้นควรให้กินยาพาราเซทตามอล สักครึ่งเม็ดหลังจากทำวัคซีนโดยเฉพาะวัคซีนนิวคาสเซิล ชนิดที่แทงปีกหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง รวมทั้งชนิดเชื้อตายด้วย
 การให้อาหารลูกไก่ชน
การให้อาหารลูกไก่สำคัญมาก เพราะลูกไก่ต่างอายุกัน ย่อมมีความต้องการอาหารที่แตกต่างกัน วิธีให้อาหาร คือ
 ลูกไก่อายุ 1 วัน เมื่อเอาลงมาจากรังไข่ ยังไม่ต้องให้อาหาร เพราะลูกไก่มีอาหารสำรองอยู่ในกระเพาะแล้ว ควรให้กินแต่น้ำสะอาด และนำกรวดทรายเม็ดเล็กๆ มาวางไว้เพื่อให้ลูกไก่หัดจิกกิน
 ลูกไก่อายุ 2 - 7 วันควรให้กินปลายข้าวผสมกับหัวอาหาร ให้ทั้งเช้าและเย็น แต่ควรให้กินครั้งละน้อยๆเท่าที่ลูกไก่กินหมดภายใน 3 - 5นาทีเท่านั้น นำน้ำสะอาจและกรวดทรายเล็กๆ มาวางไว้ให้ลูกไก่กินตลอดเวลา
 ลูกไก่อายุ 2 สัปดาห์ ช่วงนี้ลูกไก่สามารถหาอาหารอย่างอื่นกินได้บ้างแล้ว แต่ก็ควรให้ปลายข้าวผสมหัวอาหาร อาหารหยาบ เช่น รำละเอียดผสมกับปลายข้าว กากถั่ว ข้าวโพดบด ปลาป่น กระดูกป่น เปลือกหอยป่น โดยผสมตามสูตรดังนี้ กระดูกป่น 0.1 กิโลกรัม เปลือกหอยป่น 0.2 กิโลกรัม อาจผสมเกลือแกงลงไปประมาณ 1 ช้อนชา ผสม พรีมิกซ์ไวตามินลงไปด้วยสักเล็กน้อย ควรหาเศษผัก หรือหญ้าสดมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ โปรยให้ไก่กินวันละ 1-2 ครั้ง ที่สำคัญมากที่สุดก็คือน้ำสะอาดต้องมีตลอดเวลา คอยมั่นทำความ สะอาดบริเวณที่นอนของลูกไก่ อย่าให้สกปรก หมักหมม ควรให้ลูกไก่ถูกแสงแดดบ้างทั้งเช้าและเย็น
 ลูกไก่อายุย่างเข้า 3 - 6 สัปดาห์ ลูกไก่ที่อยู่ในระยะนี้ขนจะขึ้นสมบูรณ์แล้ว และที่สำคัญจะเริ่มมีการจิกกัน อาหารผักสดยังคงให้เหมือนเดิม อาจจะเพิ่มกรวดทรายให้กินเป็นอาทิตย์ละ 2 ครั้ง
 ลูกไก่อายุ 7 - 8 สัปดาห์ ไก่ในช่วงเวลานี้จะเจริญเติบโตมากขึ้นกว่าเดิม ควรแยกตัวผู้ และ ตัวเมียออกจากกัน ถ้าต้องการจะนำตัวผู้ไปตอน ก็ควรทำเสียตอนนี้เลย สำหรับการเลี้ยงดูควรให้อาหารและน้ำอย่างเพียงพอ คอยทำความสะอาดกรง หรือโรงเรือนอยู่เสมอ ไม่เช่นนั้นไก่จะไม่สบายตัว
 ลูกไก่อายุ 9 - 10 สัปดาห์ ระยะนี้การให้อาหารง่ายมาก ควรให้กินข้าวเปลือกได้แล้ว อย่างน้อยวันละครั้งในตอนบ่าย ปล่อยไว้ที่ลานซึ่งเป็นพื้นดินและพื้นหญ้า ควรปล่อยให้หาอาหารเองตามธรรมชาติ ควรเสริมอาหารเมื้อเช้าและเมื้อเที่ยงให้ด้วย มื้อเช้าให้จำพวกผักและเนื้อสัตว์ ตอนเที่ยงควรเป็นข้าวสารมื้อเย็นเป็นข้าวเปลือก เมื่อย่างเข้าฤดูร้อนและฤดูฝนไก่มักขาดสารอาหารควรให้อาหารเสริม เช่น ใบกระถินโดยนำไปตากแห้ง แล้วนำไปแช่ลงในน้ำสะอาด 1 วัน เพื่อลดสารพิษ เป็นการช่วยเสริมสารอาหารแก่ไก่เป็นอย่างดี
 ลูกไก่อายุ 10 สัปดาห์เป็นต้นไป เมื่อโตถึงขั้นนี้แล้วจะมีความสามารถหาอาหาร ตามธรรมชาติได้เป็นอย่างดี แต่ระยะนี้ไก่ให้ผลผลิตเพื่อสืบพันธุ์ไก่จึงมีความต้องการอาหารเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ ควร ให้ปลายข้าว รำ ข้าวเปลือก เปลือกหอย กระดองปู เพื่อให้มีการเสริมธาตุ อาหารแคลเซียมยมและฟอสฟอรัส เมื่อได้มาแล้วให้นำมาทุบให้ละเอียดใส่ภาชนะตั้งทิ้งไว้ให้ไก่กินได้ ตลอดจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของไก่
 การออกกำลังกายลูกไก่ชน
การฝึกให้ไก่ออกกำลังเป็นเทคนิคหรือวิธีหนึ่งในการเลี้ยงไก่ให้เก่ง ไก่จะเก่งได้ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง กระดูก ข้อต่อและกล้ามเนื้อของไก่เป็นสิ่งที่สำคัญ การฝึกไก่ให้ออกกำลังเป็นการบริหารกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อต่อ ทำให้กล้ามเนื้อของไก่แน่นแข็งแรง พร้อมสำหรับการเคลื่อนไหวในทุกลีลาชั้นเชิง การฝึกไก่ให้ออกกำลังสามารถทำได้ตั้งแต่ไก่ยังอายุน้อยเพื่อเป็นการวางรากฐานโครงสร้างที่ดีให้กับลูกไก่ การฝึกไก่ให้ออกกำลังนอกจากจะทำให้ไก่มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการทางด้านสติปัญญาของลูกไก่ได้อีกทางหนึ่งด้วย วิธีการฝึกลูกให้ออกกำลังมีหลายวิธี ดังนี้
 ติดดั้งและหมั่นปรับระดับภาชนะใส่น้ำให้สุงขึ้นตามความสูงของไก่ ปรับให้สุงประมาณระดับสายตาของไก่(ขณะที่ไก่ยืนยืดคอชูคอ) เวลาจะกินน้ำไก่จะเขย่งขา ยืดตัว ยืดอกและคอ ทำให้ไก่ได้ออกแรงยืดเส้นยืดสาย เป็นการบริหารขาและคอไปด้วยขณะกินน้ำ เมื่อไก่ยืดคอบ่อยๆ เป็นประจำ จะทำให้ไก่เคยชินจนติดเป็นนิสัย อาจส่งผลดีไปถึงชั้นเชิงของไก่ ทำให้ไก่ไม่ก้มหัวลงต่ำเวลาชน เป็นการส่งเสริมให้ไก่มีเชิงคุมบน ซึ่งเป็นเชิงดีนิยม
 หว่านอาหารลงบนพื้นดินให้ลูกไก่คุ้ยเขี่ยจิกกิน การให้อาหารไก่แบบใส่ภาชนะหรืองรางใส่อาหารแต่เพียงอย่างเดียว อาจทำให้ไก่ไม่ค่อยได้ใช้ขา ไม่ได้บริหารกล้ามเนื้อขา ผู้เลี้ยงไก่ชนควรหว่านอาหารลงบนพื้นดินบ้าง เพื่อให้ไก่ได้คุ้ยเขี่ยจิกหาอาหารที่ซุกซ่อยอยู่ตามพื้นดิน ทำให้ไก่ได้ออกกำลัง ทำให้กระดูกและกล้ามเนื้อขาของไก่แข็งแรง ไม่เป็นไก่ขาอ่อน อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นพัฒนาการทางด้านสายตาให้กับลูกไก่ได้อีกทางหนึ่งด้วย
 เอาอาหารที่ไก่ชอบโยนให้ลูกไก่กินบ้าง หากทำเป็นประจำได้ก็ยิ่งดี การเลี้ยงลูกไก่ไว้ในบริเวณที่จำกัด เช่น ในเล้าตาข่ายหรือในสุ่มอาจทำให้ไก่ไม่ค่อยได้วิ่งออกกำลัง วิธีการหนึ่งในการแก้ไขปัญหานี้ก็คือ การเอาแมลงหรืออาหารแปลกๆ ที่ไก่ชอบโยนให้ไก่กิน ไก่จะวิ่งไล่จับแมลง และวิ่งไล่แย่งอาหารกันเอง ทำให้ไก่ได้ออกกำลัง ตัวอย่างแมลงที่ไก่ชอบ ได้แก่ แมลงกระชอน ตะขาบ เขียด จิ้งจก จิ้งหรีด เป็นต้น(หากอาหารชิ้นใหญ่กว่าปากไก่จะดีมากๆ เพราะในการจิกอาหารชิ้นใหญ่ ต้องใช้เวลามาก ทำให้ลูกไก่วิ่งไล่แย่งอาหารกันได้นานขึ้น)
 ผูกอาหารที่ไก่ชอบห้อยไว้ในเล้าตาข่ายหรือในสุ่ม โดยห้อยไว้ที่ระดับความสูงพอประมาณ ให้ไก่สามารถกระโดดและบินถึงได้ เมื่อไก่เห็นอาหารห้อยอยู่บนที่สูง ไก่ก็จะกระโดดและบินขึ้นจิกอาหารครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้ไก่ได้ออกกำลังแทบทุกส่วน โดยเฉพาะกล้ามเนื้อคอ ขา และปีก อีกทั้งยังได้ฝึกการใช้ปากจิกอาหาร การใช้สายตาเพ่งเพื่อจู่โจมเป้าหมาย เป็นการเพิ่มประสบการณ์และความชำนาญให้กับลูกไก่ได้อีกทางหนึ่ง ตัวอย่างอาหารที่ไก่ชอบกิน ได้แก่ แตง ผักกาด ตลอดจนผักใบเขียวต่างๆ กล้วย แมลงกระชอน ตะขาบ เขียด จิ้งหรีด เป็นต้น(แมลงที่ดิ้นไปมาจะเรียกความสนใจของไก่ ทำให้ไก่อยากรู้อยากลองมากขึ้น)
 ทำคอนให้ไก่เหยียบ ลูกไก่มักมีความซุกซนอยากรู้อยากเห็นอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว หากเราทำคอนหรือกิ่งไม้ไว้ในเล้าตาข่ายหรือในสุ่ม ลูกไก่จะกระโดดบินขึ้นไปเหยียบเกาะบนคอนที่สูง ทำให้ไก่มีโอกาสได้ออกกำลังตลอดเวลา ลูกไก่จะได้บริหารทั้งกล้ามเนื้อ กระดูก ปีกและขา ทำให้ไก่มีกำลังขา ไม่เป็นไก่ขาอ่อน ปีกก็แข็งแรงทำให้ไก่จิกบินตีได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว

คัดลอกมาจาก ฐานข้อมูลไก่ชน 
จัดทำโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม อ.เมือง จ.พิษณุโลก 65000
http://202.29.80.69/kaichon/?m=view&cate=16

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น